“อินทรีย์” ของมนุษย์ แต่ละคนมีไม่เท่ากัน บางคนระลึกถึงพระพุทธคุณได้ โดย "สติปัญญาล้วนๆ"  บางคนต้องอาศัยผู้แนะนำ หรืออาศัยบางสิ่งบางอย่างเป็นสื่อชักจูง   พระพุทธปฏิมาจึงเป็นประโยชน์แก่ ผู้มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ใช้เป็น "สื่อระลึกถึง" 


Buddha statue


ค่าของพระพุทธปฏิมากับค่าของการเรียนบาลี (๑) 

      พระพุทธปฏิมา หรือพระพุทธรูป นั้น ได้ยินมาว่า คนต่างศาสนาบางศาสนา เขาเรียกว่า “รูปเคารพ” และเรียกศาสนาที่มีรูปเคารพ เช่น พระพุทธศาสนา ว่า-ศาสนาที่บูชารูปเคารพ พระพุทธปฏิมา ....

      ในสายตาของศาสนาที่ปฏิเสธรูปเคารพ เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าขยะแขยง และถูกมองไกลไปถึงว่า ... "ผู้ที่เคารพพระพุทธปฏิมาเป็นมนุษย์ที่งมงายไร้สาระ"   อย่าว่าถึงคนต่างศาสนาเลย แม้แต่คนที่แสดงตนอยู่ในสังกัดพระพุทธศาสนานี่เองแท้ ๆ ก็มีหลายคน หลายสำนักที่โจมตีพระพุทธปฏิมา  ...  เคยเห็นมีผู้แสดงความเห็นว่า  ... 
"ไหว้แม่ ดีกว่าไหว้พระพุทธรูป" ...  

    เรื่องพระพุทธปฏิมา กับพระพุทธศาสนา  เมื่อกาลก่อนไม่มีปัญหา ...  แต่คนสมัยนี้กลับไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจยังพอว่า แต่เข้าใจผิดนี่สิ ยุ่งมาก .....

 พระพุทธปฏิมา อุปมาเหมือน "อุปกรณ์ฝึกว่ายน้ำ"

    พระพุทธปฏิมา เป็น "เครื่องช่วย"  ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ-คุณพระรัตนตรัย พระพุทธปฏิมา อุปมาเหมือน "อุปกรณ์ฝึกว่ายน้ำ"  เด็กที่ว่ายน้ำไม่เป็น ลงน้ำ ก็จะต้องมีอุปกรณ์ เช่น  ห่วงยาง ช่วยไม่ให้จมน้ำ เมื่อว่ายน้ำเป็นแล้ว ก็ไม่ต้องใช้ห่วงยางอีกต่อไป   ...

 ไม่มีเด็กหัดว่ายน้ำคนไหน ไม่ต้องใช้อุปกรณ์   และ ไม่มีนักว่ายน้ำคนไหนสวมอุปกรณ์ลงแข่งว่ายน้ำ 

     เนื่องจากศักยภาพ หรือที่ภาษาธรรมเรียกว่า “อินทรีย์” ของมนุษย์ แต่ละคนมีไม่เท่ากัน  ... 

     บางคนระลึกถึงพระพุทธคุณได้ โดย "สติปัญญาล้วนๆ" 
    บางคนต้องอาศัยผู้แนะนำ หรืออาศัยบางสิ่งบางอย่างเป็นสื่อชักจูง 

     พระพุทธปฏิมาจึงเป็นประโยชน์แก่ ผู้มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ใช้เป็น "สื่อระลึกถึง" พระพุทธคุณ และ เมื่อฝึกระลึกถึงจนอินทรีย์แก่กล้าคล่องแคล่วดีแล้ว ...

    คราวนี้ ...จะระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เมื่อไรก็ไม่จำเป็น ต้องอาศัยพระพุทธปฏิมาอีกต่อไป .... แต่ไม่ได้แปลว่า เมื่อถึงตอนนั้นก็ให้ทำลายพระพุทธปฏิมานั้นทิ้งเสียเพราะไม่ต้องใช้เป็นเครื่องช่วยฝึกอีกแล้ว  คนที่มาข้างหลัง -ที่อินทรีย์ยังอ่อนอยู่ ยังมีอีกมาก คนเหล่านั้นจะได้อาศัยพระพุทธปฏิมานั้นเป็นอุปกรณ์ช่วยระลึกถึงพระรัตนตรัย-เหมือนกับที่เราเคยได้ใช้มา-ต่อไปได้อีก ....

 นี่คือเหตุผล  ที่สร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นมา และดูแลรักษาพระพุทธปฏิมานั้นไว้สืบมา


พระพุทธปฏิมาทุกองค์  ไม่ได้เกิดขึ้นได้เอง  แต่ต้องมีผู้สร้างขึ้น....

พระพุทธปฏิมาประจำที่อันมีอยู่ในแดนดินถิ่นต่างๆ ก็เกิดขึ้นจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนนั้น ๆ สร้างขึ้น 

    ถ้าเผอิญใครจะรู้สึกขัดหูขัดตา หรือถึงขั้นเห็นว่า เป็นอัปรีย์จังไร ที่มีพระพุทธปฏิมาอยู่ตรงนั้น และต้องการจะทำลายให้สูญสิ้นไป   (ดังที่เคยมีผู้ทำเช่นนั้นเป็นที่รู้เห็นกันทั่วโลกมาแล้ว) ก็ขอให้ลองคิดดูว่า - ชนชาติ ที่สร้างพระพุทธปฏิมาไว้ตรงนั้น ตอนนี้เขาไปอยู่ที่ไหน ?  เขายินยอมยกดินแดนตรงนั้นถวายให้แก่ผู้เข้าไปครอบครองอยู่ในปัจจุบัน หรือว่าผู้เข้าไปครอบครองดินแดนนั้นอยู่ในปัจจุบันเข้าไปรุกรานขับไล่ยื้อแย่งยึดครองดินแดนนั้นโดยอำนาจป่าเถื่อน แล้วใช้อำนาจป่าเพื่อนนั้นทุบทำลาย  พระพุทธปฏิมาที่เขาสร้างขึ้นด้วยศรัทธาให้พินาศสูญสิ้น และนั่นเป็นการกระทำของผู้เจริญแล้ว-กระนั้นหรือ? ................... 

     คราวนี้  ย้อนกลับมาดู พระพุทธปฏิมา ที่มีอยู่ในประเทศไทย 

    พระพุทธปฏิมา ที่สร้างขึ้นไว้ประจำที่แห่งหนึ่ง อาจถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ในที่อีกแห่งหนึ่ง 

>  จากวัดหนึ่งไปไว้อีกวัดหนึ่งในภูมิภาคเดียวกันก็มี 
>  จากภูมิภาคหนึ่งไปอีกภูมิภาคหนึ่งก็มี 
>  จากรัฐหนึ่งไปอีกรัฐหนึ่งก็มี 

     จะเรียกว่ายื้อแย่งปล้นชิงหรือจะเรียกอะไร ก็แล้วแต่จะคิดจะเรียก ... แต่ทั้งมวล ก็ย่อมกระทำด้วยศรัทธา ปรารถนาจะได้ไว้สักการบูชา  จึง ใช้สำนวนว่า - อัญเชิญไปประดิษฐาน ... เช่น  พระแก้วมรกต จากประเทศนั้นประเทศนี้  ในที่สุดมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ    เช่น พระพุทธชินราชจังหวัดพิษณุโลก ก็เคยมีความคิดจะอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ  แต่เดชะเทพยดาบันดาลให้ระงับความคิดนั้นเสียได้ พระพุทธชินราชจึงยังคงประดิษฐานที่จังหวัดพิษณุโลกสืบมา ................... 

     ยังมีการเคลื่อนย้ายพระพุทธปฏิมาอีกวิธีหนึ่ง  ที่นิยมประพฤติกันจนทุกวันนี้ นั่นคือ "วิธีโจรกรรม"

 เมื่อคิดคำนึงถึงเจตนารมณ์ของการสร้างพระพุทธปฏิมาแล้ว วิธีโจรกรรม  นี้  จัดว่าเป็นวิธีที่ "วิปริตสุดขั้วโลก"  เล่าเป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง-เรื่องจริง และผมอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ ....

    พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ขอม สร้างพระพุทธปฏิมาที่เรียกขานกันว่า “พระชัยพุทธมหานาค” ทั้งหมด ๒๐ กว่าองค์  เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานตามหัวเมือง ที่อยู่ในอำนาจขอมในสมัยนั้น หนึ่งในเมืองเหล่านั้นคือ ชยราชปุระ หรือราชบุรี  ในปัจจุบัน 

    พระชัยพุทธมหานาคนี้  ปัจจุบันเหลือแค่องค์เดียว ที่วัดมหาธาตุราชบุรี ส่วนอีก ๒๐ กว่าองค์ นอกนั้นไม่เหลือแล้ว !!?? 

    องค์ที่อยู่ที่วัดมหาธาตุราชบุรี  ก็เกือบจะไม่เหลือเหมือนกัน ขโมยมายกเอาไป แต่พระที่เฝ้าอยู่ ท่านเห็นเสียก่อน ยกเคลื่อนที่ไปได้ไม่ไกล ตั้งแต่นั้นมาต้องดูแลรักษากันอย่างแข็งแรง 

ถามว่า ขโมยพระเอาไปทำไม ?  ตอบว่า เอาไปขาย .. แล้วคนรับซื้อ รับซื้อไปทำไม ?  รับซื้อเอาไปขายต่อ ....  คนรับซื้อต่อ รับซื้อต่อเอาไปทำไม ? เอาไปขายให้เศรษฐี-นักสะสมของเก่า แล้วเศรษฐี-นักสะสมของเก่าซื้อเอาไปทำไม ?   ซื้อเอาไปดู ...  นี่สมัยทวาฯ นี่สมัยเชียงแสน นี่สมัยอู่ทองยุคต้น นี่อู่ทองยุคปลาย นี่สมัยอยุธยา นี่สมัยรัตนฯ นี่เนื้อสัมฤทธิ์ นี่เนื้อชิน นี่เนื้อหินเขียว นี่เนื้อหินทรายสีชมพู ฯลฯ พระเกศอย่างนั้น พระกรรณอย่างนี้ พระพักตร์อย่างโน้น ฯลฯ 

     เศรษฐี-นักสะสมของเก่า รับซื้อพระที่โจรกรรมมา ล้วนแต่เอามาดู ในแง่ที่เรียกกันว่า “พุทธศิลป์” แบบนี้ทั้งนั้น ไม่มีใครดูเพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นบาทฐานสำหรับเจริญวิปัสสนา เพื่อบรรลุมรรคผลต่อไป-ให้สมกับเจตนารมณ์ของการสร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นมา

  ................... เป็นอันว่า 

  • ขโมย มองพระพุทธปฏิมาเป็น “ทรัพย์”
  • เศรษฐี-นักสะสมของเก่า มองพระพุทธปฏิมาเป็น “ศิลป์”

    แต่  ไม่มีใครมองพระพุทธปฏิมาในฐานะเป็น “สื่อ” เพื่อเข้าถึงธรรม

 เขาสร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นมา เพื่อเป็นสื่อเข้าถึงธรรม แต่โจรกรรมพระพุทธปฏิมาเอาไปดูเป็นงานศิลปะ ถ้าไม่เรียกว่า วิปริตสุดขั้วโลก จะเรียกว่าอะไร 

    พฤติกรรมแบบนี้ ผมมองเปรียบเทียบไปถึงค่านิยมการเรียนบาลีในบ้านเรา เปรียบเทียบว่าอย่างไร คงต้องหาโอกาสอธิบายต่อไป 


พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย 
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา 
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ๑๔:๓๕


หนังสือแนะนำ ...


หนังสือ สารคดี พระพุทธรูปสำคัญในกรุงเทพมหานคร
โดย ส. พลายน้อย


ประวัติอันเป็นตำนานที่หาอ่านได้ยากยิ่งของพระพุทธรูปสำคัญใน กทม. จำนวน 20 องค์
· พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร · พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก
· พระพุทธนฤมิตร · พระพุทธตรีโลกเชษฐ์
· พระศรีศากยมุนี · พระพุทธเสฏฐมุนี
· พระพุทธไสยาสน์ · พระพุทธชินสีห์
· พระศาสดา · พระเสฏฐตมมุนี
· พระสัมพุทธพรรณี · พระพุทธอังคีรส
· พระพุทธนรสีห์ · พระพุทธไตรรัตนนายก
· พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร · พระแสนเมืองเชียงแตง
· พระใส · พระเสิม
· พระแซกคำ · พระสุรภีพุทธพิมพ์